สาระน่ารู้

คนที่ประสบความสำเร็จบริหารเวลาใน 1 วันกันยังไง

เขียนเมื่อ : 16 ธันวาคม 2016 - 14:37:37

Image URL

พี่ก้อยจะไม่กินข้าวที่โต๊ะทำงาน เพราะเธอบอกว่านั่นแสดงว่าเราแบ่งเวลาไม่เป็น

พี่ก้อย: คนที่มีเวลาไม่พอ คือคนที่บริหารเวลาห่วยเอง
     คนแรกชื่อ พี่ก้อย มหาเศรษฐีเจ้าของกิจการโรงแรมหลายสาขาทั่วไทย เป็นคุณแม่ลูกสอง อายุสี่สิบปลาย แต่ดูเหมือนอายุสามสิบกลางๆ
     เมื่อถามถึงเรื่องการบริหารเวลา พี่ก้อยตอบผมกลับมาก่อนเลยว่า
     ก่อนจะพูดเรื่องบริหารเวลา ต้องเข้าใจก่อนเลยนะว่าเวลามันมี 2 อย่างคือ ‘เวลาตามนาฬิกา’ กับ ‘เวลาจริง’
     ฟังแค่นี้ก็งงแล้ว
     พี่ก้อยอธิบายแบบนี้ครับ เวลาตามนาฬิกาคือ หนึ่งปีมี 365 วัน หนึ่งวันมี 24 ชั่วโมง หนึ่งชั่วโมงมี 60 นาที
     เวลาจริงคือ เวลาที่เรารู้สึก ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบ เช่น เวลาอ่านหนังสือสอบ หนึ่งชั่วโมงเหมือนครึ่งวัน เวลาสังสรรค์กับเพื่อน ครึ่งวันเหมือนหนึ่งชั่วโมง หรืออย่างตอนที่ลูกพี่ก้อยเป็นเด็กๆ ปีหนึ่งผ่านไปเร็วเหมือนหนึ่งเดือน เป็นต้น
     ข่าวดีคือเราอยู่โลกของเวลาจริง ไม่ใช่โลกของเวลาตามนาฬิกา นี่คือสาเหตุที่ทำให้ 24 ชั่วโมงของแต่ละคนไม่เท่ากัน เพราะเวลาจริงคือเวลาสัมพัทธ์ เราต่างคนต่างสร้างมันขึ้นมาเอง อะไรที่เราสร้างขึ้นมาเองเราจึงเป็นคนบริหารเอง
     คนที่มีเวลาไม่พอจึงไม่มีใครให้โทษนอกจากตัวเอง เพราะเขาคือคนที่บริหารเวลาห่วยเอง
     ผมฟังถึงตรงนี้ ต้องบอกว่านี่คือคำอธิบายเรื่องที่ชอบมีคนพูดว่า 24 ชั่วโมงของแต่ละคนไม่เท่ากัน ที่ผมฟังแล้วเข้าใจที่สุด
     พี่ก้อยบอกว่า ทุกวันพี่จะตื่นตีห้ามาออกกำลังกาย ทุกวันไม่เคยขาด เสร็จแล้วจะมาเตรียมอาหารให้สามีและลูก จริงๆ คนงานที่บ้านก็มี แต่พี่ก้อยถือว่านี่คือหน้าที่แม่และภรรยาที่ดี เสร็จแล้วพี่ก้อยจะอ่านรายงานสรุปเรื่องของโรงแรมและข่าวที่น่าสนใจที่ลูกน้องส่งมาทิ้งไว้ตอนกลางคืนประมาณครึ่งชั่วโมง จากนั้นเดินทางไปออฟฟิศและเริ่มทำงานประมาณ 10 โมง ระหว่างนี้จะยังไม่เปิดคอมพิวเตอร์ แต่จะใช้เวลาช่วงเช้าในการพูดคุยสั่งการกับทีมงาน
     ราวเที่ยงครึ่งเธอจะไปกินข้าว พี่ก้อยจะไม่กินข้าวที่โต๊ะทำงาน เพราะเธอบอกว่านั่นแสดงว่าเราแบ่งเวลาไม่เป็น เวลากินก็ต้องกินให้ดีๆ ตกบ่ายเธอจะกลับมาประชุมและเช็กอีเมล​ สิ่งที่เธอย้ำกับผมมากคือ เวลาทำอะไรเธอจะทำทีละอย่าง ไม่ multitask เช่น คุยกับลูกน้องก็คุย เช็กอีเมลก็เช็กอีเมล กินข้าวก็กินข้าว ฯลฯ เธอถึงขั้นมีป้าย do not disturb แขวนไว้หน้าห้องเวลาต้องการสมาธิในการทำงาน
     บ่ายแก่ๆ ถ้าไม่นัดเจอเพื่อน ก็จะไปโยคะ และกลับบ้านไปกินข้าวเย็นกับครอบครัว พี่ก้อยแทบจะไม่ออกข้างนอกตอนกลางคืน และเธอไม่แตะแอลกอฮอล์เลยทั้งๆ ที่ตอนสาวๆ เป็นคนปาร์ตี้หนักพอควร
     พี่ก้อยไม่มีทีวีในห้องนอน เพราะเธอแทบไม่ดูทีวี ก่อนนอนเธอจะใช้เวลาอ่านหนังสือและนั่งสมาธิประมาณครึ่งชั่วโมง
     พี่ก้อยหลับก่อน 4 ทุ่มทุกวัน
     ถ้าวันไหนต้องเดินทางไปตรวจโรงแรมที่อยู่ต่างจังหวัด ตารางชีวิตก็จะเปลี่ยนไปเล็กน้อย แต่สิ่งที่เธอทำไม่ขาดคือ การออกกำลังกายและนั่งสมาธิทุกวัน
     ฟังเสร็จผมถามว่า ถามจริงพี่ไม่เบื่อเหรอ ที่ต้องทำแบบนี้ทุกๆ วัน ไม่ออกไปปาร์ตี้กินเหล้าสังสรรค์บ้างเลย
     เธอตอบกลับมาว่า เธอกลัวแก่และกลัวจนมากกว่ากลัวเบื่อ
     โอเคครับ คิดว่าคำตอบน่าจะครบถ้วนสมบูรณ์ดี
 

ให้ลิสต์สิ่งที่ต้องทำประมาณ 20 อย่างของวันนี้ออกมาก่อนในตอนเช้า
แล้วเลือกสิ่งที่สำคัญที่สุด 5 อย่างออกมาทำก่อน ถ้า 5 อย่างนี้ไม่เสร็จที่เหลืออีก 15 อย่างยังไม่ต้องทำ
กบบอกผมว่าเรื่องนี้ดูเหมือนจะเบสิก แต่คนที่ประสบความสำเร็จทั้งหลายบนโลกนี้อย่าง
บิล เกตส์ หรือ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ต่างใช้วิธีนี้กันทั้งนั้น

กบ: โฟกัสให้มาก แล้วจะใช้เวลาน้อยลง
     คนต่อไปที่ผมคุยด้วยคือ กบ คนนี้เป็นเพื่อนผมตั้งแต่สมัยเรียน
     กบเป็นเด็กที่บ้านจนมากครับ เข้ามาเรียนกรุงเทพฯ ด้วยการเป็นเด็กทุนและต้องหารายได้พิเศษเพื่อเลี้ยงตัวเอง แต่หลังจากจบมา กบทำงานหลายอย่าง ด้วยความขยันและฉลาด บริษัทที่ปรึกษาด้าน IT ที่กบตั้งขึ้นจากเล็กๆ วันนี้กลายเป็นบริษัทที่ใหญ่พอตัวและเป็นที่รู้จักในวงการ
     ทำให้กบจากเด็กบ้านนอกที่บ้านไม่มีฐานะ กลายเป็นมหาเศรษฐีขับซูเปอร์คาร์ในวัย 30 กลางๆ
     ด้วยต้นทุนชีวิตที่ไม่ได้มีเหมือนคนอื่น ความสามารถในการบริหารเวลาของเขาจึงน่าสนใจมาก
     ทุกวันนี้กบมีชีวิตที่สบายมากแล้ว เพราะบริษัทของเขาแทบจะรันไปได้ด้วยตัวเอง และเขาก็มีลูกน้องที่ไว้ใจได้คอยบริหารงานให้ กบเป็นหนุ่มโสด ถ้าวันไหนไม่มีนัดลูกค้า เขาจะตื่นสายๆ เข้าออฟฟิศประมาณ 10-11 โมง ออกจากออฟฟิศบ่ายสาม ไปฟิตเนส และตกเย็นด้วยการไปกินข้าวกับลูกค้าหรือสังสรรค์กับเพื่อนๆ
     กบบอกว่าเคล็ดลับสำคัญที่วันๆ หนึ่งทำงานน้อยอย่างนี้ได้ เพราะว่าเวลาที่เขาอยู่ที่ทำงาน เขาจะ ‘โฟกัส’ มากๆ เพราะฉะนั้นเวลาทำงานไม่กี่ชั่วโมงของเขา ได้งานเท่ากับการทำงานหลายวันของคนทั่วไป
     และนี่คือเคล็ดลับ 4 ข้อที่เขาบอกกับผมมาครับ
     1. ระวังสิ่งล่อใจ
     กบบอกว่าเมื่อพูดถึงเรื่องการบริหารเวลา สิ่งแรกที่ต้องระวังคือ สิ่งล่อใจ เพราะคนส่วนใหญ่จะใช้เวลาไปอย่างน่าเสียดายกับสิ่งพวกนี้ สิ่งล่อใจก็เป็นได้ตั้งแต่เรื่องเล็กอย่างการเผลอไปเปิด Facebook ตอนเช้า พอรู้ตัวอีกที เราก็นั่งดูคลิปจาก YouTube ไป 7-8 อันแล้ว เสียเวลาอันมีค่าไปครึ่งชั่วโมง
     2. โฟกัสสิ่งที่ต้องทำในวันนั้น
     สิ่งที่ต้องทำจริงๆ ในวันหนึ่งจะมีของที่สำคัญจริงๆ ที่จะส่งผลต่อ performance กว่า 90% ของเราไม่เกิน 5 ประเด็น คือคนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่า 5 อย่างนั้นคืออะไร วิธีการหาคือให้ลิสต์สิ่งที่ต้องทำประมาณ 20 อย่างของวันนี้ออกมาก่อนในตอนเช้า แล้วเลือกสิ่งที่สำคัญที่สุด 5 อย่างออกมาทำก่อน ถ้า 5 อย่างนี้ไม่เสร็จที่เหลืออีก 15 อย่างยังไม่ต้องทำ กบบอกผมว่าเรื่องนี้ดูเหมือนจะเบสิก แต่คนที่ประสบความสำเร็จทั้งหลายบนโลกนี้อย่าง บิล เกตส์ หรือ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ต่างใช้วิธีนี้กันทั้งนั้น
     3. แบ่งเวลาและเคารพเวลาที่แบ่ง
     Compartmentalisation คือการแบ่งเวลาของวันเป็น block และเคารพ block เวลาอันนั้นด้วย เช่น ถ้าลงเวลาใน calendar ไว้ว่าจะประชุมหนึ่งชั่วโมง เมื่อครบหนึ่งชั่วโมงให้ลุกเลย ทำแบบนี้ให้เป็นนิสัยแล้วจะเป็นคนที่บริหารเวลาได้ และทำไปนานๆ ในที่สุดทุกอย่างจะจบตามเวลาที่ต้องการไปเอง เพราะเหมือนเป็นการถูกฝึกให้เป็นนิสัย
     4. ดูแลทีมงานและระบบการทำงานให้ดี
     เรื่องสุดท้ายคือ ดูแลคนที่อยู่รอบข้างให้ดีๆ ทีมงานของเราคือการขยายความสามารถในการทำงานของเรา ถ้าเราทำงานคนเดียวได้ 8 ชั่วโมง มีทีมงานที่เก่งเท่าเรา 4 คน ก็เหมือนจะทำงานได้ 32 ชั่วโมง แต่เรื่องจริงๆ ไม่ใช่แบบนั้น เพราะทีมงานของเราจะเป็นตัวคูณทั้งด้านดีและไม่ดี ดังนั้นการออกแบบ ‘ระบบ’ การทำงานจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถ้าระบบดีเราจะแก้ปัญหาใหญ่ให้เป็นปัญหาเล็ก ถ้าระบบห่วยเราจะทำปัญหาเล็กให้เป็นปัญหาใหญ่ เพราะระบบเปรียบเหมือนแว่นขยายนั่นเอง มันจะขยายทั้งสิ่งดีและสิ่งที่ไม่ดี
     กบเพิ่มเติมให้นิดหนึ่งด้วยว่า การดูแลทีมงานที่ดีให้ทำแบบที่ เซอร์ ริชาร์ด แบรนสัน เคยกล่าวไว้คือ
     “Train people well enough so they can leave. Treat them well enough so that they don’t want to.”
     คมกริบ
     ตอนท้ายผมถามเรื่องชีวิตส่วนตัวนิดหน่อย ผมถามว่าทุกวันนี้ชีวิตเป็นยังไงบ้าง?
     กบหัวเราะแล้วบอกว่า ชิลมากๆ เพราะทีมงานดี ลูกน้องเก่งกว่ามันอีก ตอนนี้เที่ยวหนัก ดื่มเยอะไปนิด ว่าจะลดการดื่มลงหน่อย
     แล้วกบก็จบท้ายการสนทนาด้วยการชวนผมไปดื่มไวน์ซะงั้น
 

อยากใช้เวลาให้มีค่าต้องพูด "ไม่" ให้เป็นครับ

มังกร: พูดคำว่า “ไม่” ซะบ้าง และใช้ ‘เศษเวลา’ ให้เป็นประโยชน์
     คนที่สามชื่อ มังกร เป็นครีเอทีฟที่มีชื่อเสียงมากในวงการโฆษณาได้รับรางวัลใหญ่ๆ มาเพียบ
     “ชีวิตผมเอาแน่เอานอนไม่ได้พี่” นี่คือคำแรกที่เขาบอกเมื่อผมถามถึงเรื่องการบริหารเวลา
     “บางช่วงงานเยอะ หรือถ้าสมองมันแล่นก็อยู่ยันเช้า แต่ถ้าช่วงชิลก็นั่นแหละชิลๆ แต่ผมก็พยายามชดเชยนะช่วงที่งานไม่เยอะก็พยายามดูแลตัวเอง ไปโยคะ สปา ปั่นจักรยาน เล่นกับหมาบ้าง”
     มังกรบอกว่าเขาอาจจะไม่ได้คิดเรื่องบริหารเวลามากเท่าไหร่ แต่นี่คือสองสิ่งที่เขาทำเสมอๆ ที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับคนอื่น
     เรื่องแรกคือ ฝึกพูดคำว่า “ไม่” ซะบ้าง
     เขาพบว่าคนไทยใช้คำนี้ไม่ค่อยเป็น เพราะความขี้เกรงใจ สุดท้ายเลยต้องเสียเวลาอันมีค่าของตัวเองไปกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง อยากใช้เวลาให้มีค่าต้องพูด "ไม่" ให้เป็นครับ
     เรื่องที่สองคือ การใช้ ‘เศษเวลา’ ให้เป็นประโยชน์ เขาบอกว่าเขาแปลกใจมากที่เห็นคนไทยชอบเล่นมือถือเวลาไม่มีอะไรทำ เช่น ตอนอยู่บนรถไฟฟ้า ตอนนั่งรอหมอ ตอนนั่งรอลูกเรียนเปียโน ฯลฯ แทนที่จะอ่านหนังสือ หรือทำงานอะไรที่เป็นประโยชน์ มังกรบอกว่าเขาพกหนังสือและสมุดจดติดตัวตลอดเวลา ตอนว่าง 5 นาที 10 นาที ถ้าไม่อ่านหนังสือก็จะจดอะไรบางอย่างเสมอ งานที่ได้รับรางวัลจำนวนมากของเขาริเริ่มมาจากแรงบันดาลใจจากสิ่งที่เขาจด หรืออ่านตอนช่วง ‘เศษเวลา’ นี่แหละ
     มังกรบอกว่า “พี่รู้ปะว่าคนเขียนเรื่อง Presumed Innocent ที่เป็น New York Times Best Seller แม่งใช้เวลาเขียนระหว่างนั่งรถไฟใต้ดินไปทำงาน แค่วันละ 10 นาทีนี่แหละ พี่เข้าใจที่ผมต้องการจะสื่อใช่ไหม”
     ผมเข้าใจครับ และผมจะพยายามเลิกไถมือถือเล่นเวลาเบื่อๆ แล้วครับ
 

ในช่วงเช้าถึงเที่ยงประพตแทบจะไม่จับโทรศัพท์มือถือเลย ถ้ามีสายเข้าและไม่ด่วนเลขาเขาจะเป็นคนจัดการให้ทั้งหมด เพราะช่วงนี้คือช่วงเวลาที่สมองทำงานดีที่สุด เขาจะใช้มันทำงานสำคัญๆ เท่านั้น

ประพต: จงเริ่มต้นทำในสิ่งที่สำคัญ
     คนสุดท้ายที่ผมคุยด้วยชื่อ ประพต เขาเป็นทายาทเจ้าของโรงงานยาขนาดใหญ่ เขาไม่ใช่เด็กสปอยล์ทั่วไป แต่เป็นคนที่สืบทอดกิจการจากพ่อและทำให้กิจการรุ่งเรืองขยายใหญ่โตเป็นอย่างมาก
     เขาดูแลทุกเรื่องของกิจการตั้งแต่งานผลิต มาร์เก็ตติ้ง และงานขาย เขาจึงเป็นคนที่ยุ่งมากๆ
     ประพตบอกว่าเขาจะใช้เวลาประมาณ 30 นาทีทุกเช้าก่อนเริ่มงานในการวางแผนว่าวันนี้จะทำอะไรบ้าง โดยการแบ่งช่วงเวลาเป็น time slot แล้วใส่ไว้ใน Google Calendar โดยเขาบอกผมว่า เขาจะดูก่อนเลยว่าวันนี้งานอะไรที่ทำแล้วจะส่งผลให้เกิดประโยชน์กับบริษัทมากที่สุด เขาจะเลือกมันขึ้นมาทำก่อน โดยใช้หลัก 80/20 ในการเลือก
     นอกจากจะมี to do list แล้วเขายังมี to don’t list ด้วย เพื่อให้ไม่เผลอไปทำงานที่เขาสามารถมอบหมายให้คนอื่นทำได้
     และในช่วงเช้าถึงเที่ยงประพตแทบจะไม่จับโทรศัพท์มือถือเลย ถ้ามีสายเข้าและไม่ด่วนเลขาเขาจะเป็นคนจัดการให้ทั้งหมด เพราะช่วงนี้คือช่วงเวลาที่สมองทำงานดีที่สุด เขาจะใช้มันทำงานสำคัญๆ เท่านั้น ถ้าจะใช้โทรศัพท์นั่นหมายถึงการโทรที่เป็นสายสำคัญจริงๆ
     โดยส่วนใหญ่เขาจะใช้เวลาในช่วงเช้าตรวจโรงงานและวางแผนการขาย หรือพัฒนาปรับปรุงและออกผลิตภัณฑ์ใหม่
     เวลาสั่งงานลูกน้อง คำสั่งของเขาจะชัดเจนและไม่กำกวม ประพตบอกว่าคำสั่งที่กำกวมเสียทั้งเวลาลูกน้องและเขาด้วย เพราะเดี๋ยวลูกน้องก็จะมีคำถาม ดังนั้นก่อนสั่งอะไร คิดคำสั่งให้มันเคลียร์ๆ ก่อน
     ช่วงเย็นเวลาใกล้จะกลับบ้านเขาจะวิ่งรอบโรงงาน ถือเป็นการออกกำลังกายพร้อมกับทักทายลูกน้องและตรวจสถานที่ไปด้วย
     เรียกว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกสามตัว
 

คนที่ผมคุยด้วยทุกคนจะโฟกัสและทำงานเป็นเรื่องๆ ไป
เพราะเวลาเขาทำงานเขาเล่าให้เราฟังว่าเขาจะเหมือนตกอยู่ในภวังค์
งานที่ได้ออกมามันจึงใกล้เคียงความสมบูรณ์แบบที่สุด ไม่มีใครที่ทำงานแบบ multitask เลยสักคนเดียว

     ผมได้ข้อสรุปจากการคุยกับคนที่ประสบความสำเร็จเหล่านี้ว่าพวกเขามีแนวคิดในการบริหารจัดการเวลาที่คล้ายๆ กัน ดังนี้ครับ

1. พวกเขารู้ว่าทุกคนมี prime time
     ช่วงเวลา prime time วันหนึ่งอาจจะไม่มากมาย แค่วันละ 1-2 ชั่วโมง แต่เรียกว่าเป็นช่วง ‘องค์ลง’ มีกำลังสมองและสมาธิสูงสุด ถ้าเป็นสายครีเอทีฟคือ ช่วงงานคลอด ถ้าเป็นเจ้าของกิจการคือ ช่วงคิดไอเดีย ถ้าเป็นนักเขียนคือ ช่วงพิมพ์มือเป็นระวิง ฯลฯ พวกเขาจะใช้ prime time อย่างเต็มประสิทธิภาพที่สุด ไม่เสียเวลาไปกับเรื่องไร้สาระ เช่น การเล่นโซเชียลมีเดียเป็นอันขาด

2. พวกเขาดูแลร่างกายอย่างดีมาก
     พวกเขาจะดูแลร่างกายให้ดีไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่ว่าจะออกกำลังกาย หรือพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะพวกเขาเหล่านี้รู้ว่าสมองจะทำงานได้ดี ร่างกายต้องอยู่ในสภาพที่ดีด้วย คนที่อดนอน 3 วันไม่สามารถทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพได้อย่างแน่นอน ผู้นำของโลกอย่างประธานาธิบดีโอบามาหรือปูตินต่างก็ออกกำลังกายเป็นประจำ

3. พวกเขาโฟกัส
     คนที่ผมคุยด้วยทุกคนจะโฟกัสและทำงานเป็นเรื่องๆ ไป เพราะเวลาเขาทำงานเขาเล่าให้เราฟังว่าเขาจะเหมือนตกอยู่ในภวังค์ งานที่ได้ออกมามันจึงใกล้เคียงความสมบูรณ์แบบที่สุด ไม่มีใครที่ทำงานแบบ multitask เลยสักคนเดียว ผมแนะนำว่าการทำ time block ว่าตอนนี้ควรทำอะไรและใช้เวลาเท่าไหร่เป็นสิ่งที่ดีมากครับ เครื่องมือที่ผมใช้และอยากแนะนำต่อมากๆ คือ การใช้ ASANA ซึ่งเป็น task management เมื่อ intregrate เข้าไปกับ Google Calendar มันจะเป็นเครื่องมือในการจัดการเวลาที่ทรงพลังมากครับ
 

หากวันนี้มีคนเสนอเงินให้คุณ 100 ล้านแลกกับ 10 ปีของชีวิตคุณ คุณคงไม่เอาใช่ไหมครับ
เพราะฉะนั้นอย่าโยนเวลาทิ้งไปราวกับมันไม่มีค่า

4. พวกเขาใช้เวลาไปทำในสิ่งที่พวกเขาถนัดที่สุด เรื่องอื่นที่ไม่ถนัดพวกเขาจะให้คนอื่นทำ
     เมื่อเจาะลึกลงไปในการใช้ชีวิตของคนเหล่านี้ จะพบว่าพวกเขาจะทุ่มเทเวลาไปกับการเจียระไนทักษะที่พวกเขาถนัดมากๆ ให้คมขึ้นไปเรื่อยๆ ในขณะที่เรื่องที่ไม่ถนัด พวกเขาจะส่งต่อให้คนอื่นทำ พูดง่ายๆ คือคนเหล่านี้ไม่พยายามจะทำตัวให้เป็นคนเก่งทุกเรื่องนั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น กบไม่เคยเล่นหุ้น มันบอกว่าการศึกษาเรื่องหุ้นเป็นเรื่องเสียเวลา กบจึงเอาเรื่องหุ้นและเงินไปให้พวก private wealth management จัดการดีกว่า

5. พวกเขาไม่ปล่อยเศษเวลาให้หายไป
     ผมว่าตัวอย่างของมังกรอธิบายได้ครบถ้วนมาก

6. พวกเขาให้ค่ากับเวลามากกว่าเงิน
     พวกเขาเหล่านี้เข้าใจมากๆ เลยว่าเวลาไม่สามารถเก็บหรือสะสมไว้ได้ เวลาผ่านแล้วผ่านเลย ดังนั้นมันจึงมีค่ามากที่สุด หากวันนี้มีคนเสนอเงินให้คุณ 100 ล้านแลกกับ 10 ปีของชีวิตคุณ คุณคงไม่เอาใช่ไหมครับ เพราะฉะนั้นอย่าโยนเวลาทิ้งไปราวกับมันไม่มีค่านะครับ

     เพราะเวลามีค่าที่สุด

ขอขอบคุณ:themomentum.co