สาระน่ารู้

ทำความรู้จักกับ CSR

เขียนเมื่อ : 26 พฤศจิกายน 2019 - 14:32:18

Image URL

หลักการ CSR คือ อะไร ?

CSR ย่อมาจากคำว่า Corporate Social Responsibility แปลเป็นไทย หมายถึงความรับผิดชอบต่อสังคมในองค์กร ความหมายโดยรวมของ CSR ก็คือ การดำเนินกิจกรรมทั้งภายในและภายนอกองค์กรที่ให้ความสำคัญและคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม ด้วยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในองค์กร หรือนำทรัพยากรที่อยู่นอกองค์กรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อองค์กรและส่วนร่วม เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขและยั่งยืน

การดำเนินกิจกรรม CSR ไม่มีรูปแบบหรือแบบแผนตายตัว จากความหมายของ CSR เป็นอักษรย่อของคำว่า Corporate Social Responsibility ซึ่งแต่ละประโยคเป็นกิจกรรมที่มีความหมาย ดังนี้

C (Corporate) หมายถึง กิจกรรมต่างๆที่ดำเนินไปเพื่อแสวงหาผลกำไร

S (Social) หมายถึง กลุ่มคนหรือสังคม มีวิถีร่วมกันทั้งโดยธรรมชาติหรือโดยเจตนารวมถึงสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่อยู่รายรอบที่มีความสัมพันธ์กัน

R (Responsibility) หมายถึง การยอมรับทั้งผลดีผลเสียข้อดีข้อด้อยในกิจกรรมที่ได้ทำ รวมถึงการสร้างสรรค์และบำรุงรักษา แก้ไข สิ่งที่ส่งผลกระทบไปยังผู้ที่มีส่วนได้เสียในสังคมนั้นๆ

ดังนั้น การดำเนินกิจกรรม CSR องค์กรจึงต้องเป็นผู้กำหนดรูปแบบหรือกิจกรรมรวมทั้งรายละเอียดและวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมกับองค์กร โดยหลักการสำคัญของ CSR ก็คือ ความรับผิดชอบทางสังคม โดยเฉพาะการทำธุรกิจกับสังคมจะต้องอยู่ร่วมกันช่วยเหลือเกื้อกูลเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน

 

หลักการ CSR กับการประกอบธุรกิจ

แนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ คือการทำให้ธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมมีปฎิสัมพันธ์กันอย่างสมดุล โดยอยู่ภายใต้หลักความพอประมาณ ความระมัดระวัง. มีเหตุผล และการบริหารความเสี่ยงภายใต้ความรู้และคุณธรรมในการประกอบธุรกิจ เพราะการดำเนินธุรกิจเพื่อแสวงกำไรเพียงอย่างเดียว อาจไม่ใช่หลักประกันของการเติบโตและพัฒนาอย่างยั่งยืน หลักความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ เช่น ส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่พนักงานเพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาตนเอง จัดสวัสดิการอย่างเหมาะสม หรือจัดหาวิธีการช่วยแก้ไขปัญหาประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมระดับท้องถิ่นไปจนระดับประเทศ 

 

“ความรับผิดชอบต่อสังคม”  หรือ CSR (Corporate Social Responsibility)  เป็นแนวคิดที่กระตุ้นให้องค์กรภาคธุรกิจใส่ใจกับสังคมมากขึ้น  ไม่มุ่งแต่จะกอบโกยผลประโยชน์จากสังคมเพียงอย่างเดียว  เนื่องจากในบางองค์กรได้สร้างความเสียหายทั้งในด้าน สิ่งแวดล้อม  สุขภาพ สังคม และสิทธิ ซึ่งเป็นวิธีการทำธุรกิจที่ไม่ยั่งยืนโดยสิ่งเหล่านั้นได้ย้อนมาทำร้ายลูกค้าทางตรงและทางอ้อมของตนเอง หรือได้สร้างความขัดแย้งกับชุมชนโดยรอบองค์กร ที่ต้องมีตัวประสานและสร้างความเข้าใจให้กับองค์กรธุรกิจให้มาสนใจ“ความรับผิดชอบต่อสังคม” 

กระแสตื่นตัวในแนวคิดด้าน “ความรับผิดชอบต่อสังคม” หรือ CSR ในปัจจุบัน ทำให้เราได้เห็นถึงรูปแบบกิจกรรมเพื่อสังคมขององค์กรธุรกิจต่างๆทั้งในกิจกรรม

ด้านสงเคราะห์ เช่น การบริจาคทุน หรือสิ่งของให้แก่ผู้ด้อยโอกาส

ด้านรณณรงค์ เช่น จัดกิจกรรมลดภาวะโลกร้อน เพื่อสร้างความตระหนักให้ลูกค้าบริษัท หรือบุคคลทั่วไป

ด้านพัฒนาศักยภาพชุมชน เช่น นำองค์ความรู้ที่องค์กรมีไปถ่ายทอดให้กับชุมชนได้พัฒนาอย่างยั่งยืน หรือองค์กรจะเป็นพันธมิตรร่วมพัฒนาสังคมกับองค์กรพัฒนาเอกชน ที่มีความสามารถในการทำงานเข้าถึงปัญหาและความต้องการของสังคมโดยตรง  ปัจจุบันเริ่มเกิดกลุ่มอาสาสมัครพนักงานในแต่ละองค์กรมากขึ้น 

กิจกรรมด้าน CSR ก็ไม่ได้หมายถึง เพียงการทำกิจกรรมอาสาสมัครเพื่อสังคมเท่านั้น แต่รวมถึงความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า สังคม และพนักงานในองค์กร เช่น สินค้ามีคุณภาพ ไม่สร้างผลด้านลบแก่สังคม พนักงานได้รับผลตอบแทนและสวัสดิการอย่างเหมาะสม สิ่งนี้ก็เรียกว่า CSR เช่นกัน ซึ่งในหลายองค์กรอาจใช้จุดนี้เป็นการเริ่มต้นกิจกรรม ด้าน CSR ในวงกว้างได้ในอนาคต

กิจกรรมเพื่อสังคมไม่จำเป็นต้องใช้ทุนจำนวนมาก ไม่จำเป็นต้องสร้างสัญลักษณ์ใหญ่โตให้คนทั่วไปเห็น  องค์กรควรเริ่มต้นกิจกรรมเพื่อสังคมจากภายในสู่ภายนอก  สร้างความเข้าใจกับผู้บริหารจนถึงพนักงานต่อการทำกิจกรรมเพื่อสังคม  สร้างกิจกรรมอาสาสมัครเล็กๆภายในองค์กร เช่น การพัฒนาสถานที่ทำงานร่วมกัน  จัดบรรยากาศใหม่ๆในสำนักงาน  เป็นต้น  แล้วแสดงให้เห็นถึงผลสำเร็จและผลดีที่ได้รับจากกิจกรรมนั้นเพื่อเป็นการสร้างความตื่นตัวในกิจกรรมเพื่อสังคม  และขยายขนาดกิจกรรมไปสู่ชุมชนหรือสังคมต่อไป     

ทุกสิ่งในโลกมีด้านดีและก็ด้านลบอยู่ในตัวมัน แนวคิดการทำกิจกรรมด้าน “ความรับผิดชอบต่อสังคม” หรือ CSR ก็เช่นเดียวกัน ที่อาจเป็นจุดเริ่มสร้างปัญหาให้กับสังคมในอนาคต เพราะถ้าองค์กรธุรกิจทำกิจกรรมเพื่อสังคมตามความต้องการตนเองเป็นที่ตั้ง มองปัญหาในมุมที่ตนเห็นแล้วช่วยเหลือตามที่ตนเองสะดวกเพียงอย่างเดียว เพื่อให้ได้สร้างภาพลักษณ์แก่องค์กรเท่านั้น มันก็ไม่ต่างอะไรกับการกอบโกยผลประโยชน์แล้วสร้างปัญหาทางสังคมทิ้งไว้

การทำกิจกรรมเพื่อสังคมที่ดีต้องเข้าใจถึงปัญหาหรือความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย  เพื่อให้กิจกรรมที่เราไปทำนั้นประสบผลสำเร็จอย่างแท้จริง  ซึ่งกิจกรรมที่สำเร็จอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาอาจจะไม่ได้มารวดเร็วอย่างกิจกรรมที่ฉาบฉวย ที่มุ่งเน้นเป้าหมายทางการโฆษณามากกว่าเป้าหมายของสังคม

ผลประโยชน์จาก CSR ที่องค์กรภาคธุรกิจจะได้รับทางตรงและทางอ้อม ทั้งในด้านชื่อเสียงที่ดีของบริษัท ด้านความเชื่อมั่นของลูกค้าที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุด และด้านทรัพยากรบุคคลในองค์กร เช่นบางองค์กรจัดกิจกรรมอาสามัคร พนักงานที่มีแนวคิดว่า “สังคมพัฒนา พนักงานมีสุข ผลงานออกมาดี ลูกค้ามีความสุข และผลประโยชน์ก็คืนสู่องค์กร” นี้คือ วิสัยทัศน์ขององค์กรที่มีก้าวหน้าอย่างยั่งยืน คือการพัฒนาพนักงาน ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีค่าต่อความก้าวหน้าขององค์กร